ความเป็นมาของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ภาคภาษาไทย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล

Bible มาจากคำว่า Biblia ซึ่งเป็นภาษาละตินและภาษากรีก หมายถึง หนังสือหลายเล่ม เป็นคัมภีร์ที่ชาวคริสต์ถือว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ โดยมีความเชื่อว่า เป็นพระวจนะของพระเจ้าที่ตรัสผ่านมนุษย์ด้วยวิธีการดลใจให้บุคคลต่างๆ บันทึกขึ้นเพื่อเปิดเผยรหัสธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า ความเป็นมาของโลกและมนุษย์ รวมถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต เพื่อให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าอีกครั้ง
คัมภีร์ไบเบิลแบ่งออกเป็นสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิม มีทั้งหมด ๓๙ เล่ม (นิกายคาทอลิกมีภาคอธิกธรรมเพิ่มอีก ๗ เล่ม) บันทึกด้วยภาษาฮีบรู เป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยการสร้างโลก ประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล สุภาษิต เพลงสดุดี และคำพยากรณ์เกี่ยวกับการมาถึงของพระผู้ไถ่และวันพิพากษาโลก และ ภาคพันธสัญญาใหม่ มี ๒๗ เล่ม บันทึกด้วยภาษากรีกแบบคอยเนีย เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของพระเยซู กิจการของอัครทูตและบรรดาจดหมายของสาวกของพระเยซู รวมถึงหนังสือวิวรณ์ซึ่งเป็นเล่มสุดท้าย เมื่อรวมทั้งสองภาคแล้วจะเป็นหนังสือถึง ๖๖ เล่ม

ความเป็นมาของคัมภีร์ไบเบิล
เชื่อกันว่าคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ได้รับการบันทึกขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นหนังสือที่ว่าด้วยกฎหมายซึ่งชาวยิวเรียกว่า “โตราห์ (Torah)” หรือหนังสือห้าเล่ม (Pentateuch) ประกอบด้วยปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ ซึ่งชาวยิวและชาวคริสต์ยุคแรกเชื่อว่า โมเสส (Moses) เป็นผู้บันทึกขึ้น ครั้นต่อมาในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการศึกษาวิเคราะห์จนเป็นที่ยอมรับกันว่า หนังสือห้าเล่มนี้เกิดจากการนำเอาข้อเขียนสี่ชิ้นมารวมกัน ได้รับการบันทึกไว้ต่างเวลาและต่างสถานที่ โดยบันทึกขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๙ ก่อนคริสตศักราช เนื้อหาต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดเป็นมุขปาฐะมาจากยุคของโมเสส และเป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประเพณีที่อ้างอำนาจของโมเสสเป็นผู้กำหนด  

พระคัมภีร์เดิมนอกเหนือจากโตราห์ ตั้งแต่โยชูวา จนถึงมาลาคี ได้รับการบันทึกขึ้นโดย บุคคลสามกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มปุโรหิต เป็นตระกูลที่มีเชื้อสายของอาโรน พี่ชายของโมเสส มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา เป็นผู้สอน ดูแลวิหาร ดูแลการเขียนและการคัดลอกพระคัมภีร์ กลุ่มผู้เผยวจนะ เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง มีหน้าที่เขียนบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการพูดและบันทึกสิ่งที่พระเจ้าตรัส และกลุ่มนักปราชญ์ ผู้รู้ หรือนักประพันธ์บทกลอน เพลง สดุดี และสุภาษิต     

พระคัมภีร์เดิมฉบับที่แปลจากภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก เพื่อให้หมู่ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ไม่รู้ภาษาฮีบรูสามารถอ่านได้ โดยเฉพาะเชลยที่กลับมาจากบาบิโลน และที่ไปอาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียทางตอนเหนือของอียิปต์ซึ่งพูดภาษากรีกเป็นหลัก ไม่พบหลักฐานการแปลพระคัมภีร์ฉบับนี้นอกจากตำนานที่พบเกี่ยวกับการแปลหมวดเบญจบรรณ (ปฐมกาล-เฉลยธรรมบัญญัติ) จากจดหมายฉบับหนึ่งอ้างว่าให้มีการแปลเนื่องจากกษัตริย์กรีก ฟิลาเดลปัส (Philadelphus) ที่ปกครองในช่วง ๒๘๕-๒๔๗ ก่อนคริสต์ศักราช ต้องการมีพระคัมภีร์ของยิวไว้ในหอสมุด จึงขอผู้เชี่ยวชาญ ๗๒ คนจากยูดาห์มาร่วมแปล เรียกว่า เซปทัวจินต์ (Septuagint) แปลว่า เจ็ดสิบ ใช้ตัวเลขของโรมัน LXX  เป็นสัญลักษณ์            

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๔๐-๕๐ เริ่มมีการรวบรวมจดหมายฝากของอัครทูตเปาโล ๑๓ ฉบับ ที่เขียนถึงประชาคมชาวคริสต์ในอาณาจักรโรมัน มาระโกได้เขียนพระวรสารขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตของเซนต์ปีเตอร์ หรือหลังมรณภาพของเซนต์ปีเตอร์ไม่นานราวปี ค.ศ. ๖๔  มัทธิวฉบับภาษากรีกและลูกาเขียนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๗๐-๘๐ ก่อนหรือหลังการทำลายกรุงเยรูซาเล็มโดยชาวโรมัน ทั้งหมดเป็นการบันทึกเหตุการณ์และคำสั่งสอนของพระเยซู ซึ่งกลายเป็นพระกิตติคุณ ๔ เล่มได้แก่ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ยังมีหนังสือกิจการของอัครสาวก ซึ่งเป็นประวัติของคริสตจักรในช่วง ๓๐ ปีแรก ต่อมารวบรวมจดหมายฉบับอื่นๆ ของสาวกที่ช่วยสอนและตอบปัญหาของคริสตชนที่พบในชีวิตประจำวัน และหนังสือวิวรณ์ ที่เขียนขึ้นเพื่อหนุนใจบรรดาคริสเตียนที่ถูกรัฐบาลโรมันข่มเหง หนังสือทั้งหมดมี ๒๗ เล่ม เรียกว่า คัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยใช้เวลารวบรวมนานถึง ๓๐๐ ปี      

สมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน ได้มีการรับรองคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ. ๓๑๓ ทำให้คริสต์ศาสนาเจริญรุ่งเรือง จึงเริ่มมีการปลอมปนความคิดความเชื่อมากขึ้น พระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่เริ่มได้รับการรับรองให้ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการดำเนินชีวิตของคริสตชน และเริ่มมีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาลาติน หรือฉบับวัลเกต โดยเจอโรม (ค.ศ. ๓๔๐-๔๒๐) ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่ใช้อย่างเป็นทางการในคริสตจักรโรมันคาทอลิกเป็นเวลานานถึง ๑,๕๐๐ ปี         

เมื่อผ่านพ้นยุคมืดอันยาวนานหลายศตวรรษ ซึ่งชาวคริสต์สามัญถูกปิดกั้นมิให้เข้าถึงพระคัมภีร์ ทำให้เกิดกระแสความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาขึ้นในหลายประเทศ จอห์น ไวคลิฟฟ์ (John Wycliffe ค.ศ. ๑๓๒๔-๑๓๘๔) ชาวอังกฤษ จอห์น ฮัลส์ (John Huss ค.ศ. ๑๓๖๙-๑๔๑๕) ชาวเช็ก มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther ค.ศ. ๑๔๘๓-๑๕๔๖) ชาวเยอรมัน อุลริช ซวิงลี (Ulrich Zwingli ค.ศ. ๑๔๘๔-๑๕๓๑) ชาวสวิส จอห์น คาลวิน (John Calvin ค.ศ. ๑๕๐๙-๑๕๔๖) ชาวฝรั่งเศส ต่างไม่พอใจการปกครองของคาทอลิก จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงนำไปสู่การปฏิรูปศาสนาในที่สุด และแตกเป็นนิกายโปรเตสแตนท์อย่างเป็นทางการในปี ๑๕๒๙  ความเห็นข้อหนึ่งของลูเธอร์คือการเรียกร้องให้สามัญชนมีสิทธิ์อ่านพระคัมภีร์ หลายคนจึงเริ่มแปลพระคัมภีร์ออกเป็นภาษาต่างๆ และได้มีการพิมพ์พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษทั้งเล่มออกมาในปี ค.ศ. ๑๕๓๕ โดย ไมล์ส คัฟเวอร์เดล          

พระสันตะปาปายอห์นที่ ๒๓ (ถึงแก่อสัญกรรมปี ๑๙๖๓) เป็นผู้ประกาศให้มีสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง โดยเชิญพระสังฆราชเข้าร่วม ๒,๘๖๐ องค์ เปิดประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๑๙๖๒ จนถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๖๕ โดยมีพระสันตะปาปาปอลที่ ๖ เป็นประธาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อพิจารณาสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และพยายามหาคำตอบจากจุดยืนทางศาสนาให้กับสังคมปัจจุบัน การสังคายนาสิ้นสุดลงพร้อมด้วยเอกสาร ๑๖ ฉบับ ซึ่งบรรดาสังฆราชได้ลงมติด้วยการออกเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ ประกอบด้วยพระธรรมนูญ ๔ ฉบับ กฤษฎีกา ๙ ฉบับและปฏิญญา ๓ ฉบับ ว่าด้วยพระศาสนจักร การเปิดเผยของพระเจ้า พิธีกรรม การปฏิรูปชีวิตนักบวช การประกาศศาสนา เอกภาพของนิกายต่างๆ ในคริสต์ศาสนา ความสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ฯลฯ 

หลักฐานการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาไทย
ปี ค.ศ. ๑๖๖๒ คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  และได้มีการตั้งศูนย์คริสตจักรขึ้น คณะบาทหลวงได้แปลหนังสือพระวรสาร หรือประวัติของพระเยซูจากพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มเป็นภาษาไทยในปี ค.ศ. ๑๖๖๔  โดยเขียนบนกระดาษสา หนังสือนี้มีชื่อว่า พระพุทธเยซู     

นางแอนนา จัดสัน ภรรยาของอาโดนีรัม จัดสัน มิชชันนารีที่ทำงานในประเทศพม่า ได้ศึกษาภาษาไทยจากเชลยศึกชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก แอนนาได้แปลพระธรรมลูกาและหลักความเชื่อของคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย เพื่อเผยแพร่แก่เชลยศึกชาวสยามเหล่านั้น พระธรรมเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ในประเทศอินเดียเมื่อปี  ค.ศ. ๑๘๑๙   

ในปี ค.ศ. ๑๘๒๘ มิชชันนารีคณะแรกจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน มีศาสนาจารย์คาร์ล กุทสล๊าฟ ชาวเยอรมันและศาสนาจารย์ยากอบ ทอมลิน เริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในกรุงเทพฯ ทั้งสองได้ร่วมกันแปลพระวรสารทั้งสี่เล่มออกเป็นภาษาไทย โดยเริ่มจากพระธรรมลูกา จัดพิมพ์ขึ้นที่สิงคโปร์ในปี ค.ศ. ๑๘๓๔ เมื่อเห็นว่างานดำเนินไปด้วยดี จึงได้ขอคณะกรรมาธิการอเมริกันเพื่องานธรรมทูตต่างประเทศให้ส่งมิชชันนารีมาเพิ่ม และได้ติดต่อคณะอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นในพม่าให้ส่งคนมาช่วย ศาสนาจารย์ยอห์น เทเลอร์ โจนส์ จึงได้มาพร้อมกับครอบครัวในปี ค.ศ. ๑๘๓๓ และได้เริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ทั้งหมดเป็นภาษาไทย            

สมาคมพระคริสตธรรมอเมริกาได้ร่วมมือกับยูเนียนแบ๊บติสต์มิชชั่น และอเมริกันบอร์ดออฟมิชชั่น แปลพระกิตติคุณทั้งสี่เล่มขึ้นใหม่ แก้ไขและจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ และได้ทำการแก้ไขปรับปรุงเล่มอื่นๆ ด้วย รวมถึงการแก้ไขและจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ ครั้นถึงปี ค.ศ. ๑๘๘๓ พระคัมภีร์ภาษาไทยทั้งภาคพันธสัญญาเดิม และ ภาคพันธสัญญาใหม่ได้รับการแปลเสร็จเรียบร้อย และจัดพิมพ์แยกเล่มโดยสมาคมพระคริสตธรรมอเมริกา        

ปี ค.ศ. ๑๘๖๑ คณะเพรสไบทีเรียนได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อจัดพิมพ์พระคัมภีร์ออกเผยแพร่โดยร่วมกับสมาคมพระคริสตธรรมอเมริกาจัดพิมพ์พระคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาไทยออกจำหน่ายในสมัยนั้น และได้จัดพิมพ์พระคัมภีร์ทั้งเล่มได้สำเร็จในวันที่ ๑๖ กันยายน ๑๘๙๔ โดยพิมพ์บทเพลงซาโลมอนออกมาเป็นเล่มสุดท้าย        

ครั้นถึงปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ศาสนาจารย์โรเบิร์ต อาร์ แฟรงกลิน ได้พิมพ์พระคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ออกมา ซึ่งมีคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ และคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิมซึ่ง ดร.ดาร์ริงตันแปล จนเป็นที่แพร่หลายและเป็นต้นแบบของพระคัมภีร์ในปัจจุบัน ซึ่งชื่อของพระคัมภีร์แต่ละเล่มใช้ชื่อภาษาอังกฤษตามแบบโบราณ         

ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจทานแก้ไขพระคัมภีร์อีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายโปรเตสแตนต์และฝ่ายคาทอลิก มีกรรมการยกร่างคำแปลสามคน กรรมการตรวจสอบแก้ไขฉบับยกร่างแปดคน กรรมการที่ปรึกษา ๒๕ คน งานแก้ไขครั้งนี้ใช้เวลานานถึง ๑๓ ปี เนื่องจากต้องการแก้ไขการแปลให้ถูกต้องตามต้นฉบับมากที่สุด โดยการเทียบฉบับภาคพันธสัญญาเดิมกับต้นฉบับภาษาฮีบรู และเทียบฉบับภาคพันธสัญญาใหม่กับต้นฉบับภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาเดิมที่ใช้ในการบันทึก ขั้นสุดท้ายต้องให้นักลีลาภาษาไทยมาช่วยขัดเกลาภาษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับนี้แก้ไขเสร็จสมบูรณ์และจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกที่ฮ่องกง ในปี ค.ศ. ๑๙๗๑            

สมาคมพระคริสตธรรมไทยได้แปลพระคัมภีร์ภาษาไทยขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง โดยเน้นภาษาที่ทันสมัย มีความสละสลวย เพื่อให้คนอ่านทั่วไปสามารถอ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น เรียกว่า “พระวจนะสำหรับยุคใหม่” หรือฉบับ “ประชานิยม” โดยมีบุคคลหลายท่านจากฝ่ายโปรเตสแตนต์และฝ่ายคาทอลิก มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไขการแปล โดยภาคพันธสัญญาเดิมได้เพิ่มบทอธิกธรรมไว้ด้วย ซึ่งเป็นหนังสือเจ็ดเล่มที่ฝ่ายคาทอลิกยอมรับ แต่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ไม่ยอมรับ แปลเสร็จและจัดพิมพ์ภาคพันธสัญญาเดิมในปี ค.ศ. ๑๙๗๗ และจัดพิมพ์ภาคพันธสัญญาใหม่ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ และจัดพิมพ์รวมเล่มออกมาในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ 

พระคริสตธรรม คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ฉบับมาตรฐาน ค.ศ. ๒๐๐๒ เป็นฉบับที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงคำแปลจากฉบับปี ๑๙๗๑ เนื่องจากภาษาไทยมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา โครงการแก้ไขคำแปลจึงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ มีผู้แปลซึ่งเป็นกรรมการยกร่างคำแปลทำหน้าที่พิจารณาแก้ไขคำแปล ประกอบด้วยคณาจารย์และนักวิชาการที่มีความรู้ภาษากรีกและฮีบรู ซึ่งผ่านอบรมจากสมาคมพระคริสตธรรมไทย กรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะในการแก้ไขคำแปล กรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้นำคริสตจักร ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในแง่ผลกระทบของการแปลต่อคริสตจักรโดยรวม เมื่อผ่านกระบวนการยกร่างและพิจารณาข้อเสนอแนะจากการตรวจไขว้โดยผู้ยกร่างพระธรรมเล่มอื่นแล้ว จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายการแปลของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากลตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง แล้วให้นักลีลาภาษาขัดเกลาภาษาเป็นขั้นตอนสุดท้าย แล้วเสร็จทั้งเล่มในปี ค.ศ.๒๐๐๒            

เบญจบรรณ ฉบับมาตรฐาน ๒๐๐๖ เป็นหมวดหนึ่งของพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ประกอบด้วยพระธรรมห้าเล่มแรกคือ ปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ ได้รับการแก้ไขคำแปลใหม่จากฉบับ ๑๙๗๑ เริ่มแก้ไขคำแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ โดยพยายามแปลให้มีเนื้อความสอดคล้องกับสำเนาฉบับภาษาฮีบรูให้มากที่สุด และเลือกใช้ภาษาไทยที่อ่านเข้าใจได้ง่าย โดยคณะกรรมการยกร่างฯ ได้ยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการแก้ไขคำแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และมีมติให้ผลักดันพระคัมภีร์เดิมหมวดประวัติศาสตร์ (โยชูวา-เอสเธอร์) เป็นหมวดต่อไปที่จะจัดพิมพ์ต่อจากพระธรรมสดุดี ซึ่งจะสิ้นสุดกระบวนการยกร่าง และจัดพิมพ์ราวปลายปี ค.ศ. ๒๐๐๘ และคาดว่าจะแปลเสร็จทั้งเล่มในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ 


เขียนโดย นิตยสารสานแสงอรุณปีที่ 11 ฉบับที่ 4  

หนังสือประกอบการเขียน
ศาสนาคริสต์ , เสรี พงศ์พิศ เขียน, พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๙  (ไม่ระบุสำนักพิมพ์)           
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ฉบับ 1971 และพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ ฉบับมาตรฐาน 2002, สมาคมพระคริสตธรรมไทย: 2006           
เบญจบรรณ ฉบับมาตรฐาน 2006, สมาคมพระคริสตธรรมไทย: 2006                       
ขอบคุณพิเศษ
ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย แห่งสมาคมพระคริสตธรรมไทย ที่กรุณาให้สัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

You may post your comments here.
หากท่านมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือเสนอแนะเชิญออกความเห็นได้
(กรุณาใช้ข้อความสุภาพ และสร้างสรรค์)