ข้อคิดจากบอลโลก แอฟริกา2010

โลกนี้ไม่มีความยุติธรรมที่สมบูรณ์

ดูฟุตบอลโลกคู่อังกฤษกับเยอรมนี และคู่อาร์เจนตินากับเม็กซิโก
ในศึกเวิร์ลคัพเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว
ทำให้เห็นถึงความจริงอะไรบางอย่างของโลกใบนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คือ
บนโลกใบนี้ไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริงและสมบูรณ์

ทีมอังกฤษยิงประตูที่สองตีเสมอกับทีมชาติเยอรมนี
โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายชัดๆ
แต่กรรมการตัดสินไม่ให้ทีมชาติอังกฤษได้ประตู กรรมการฟีฟาเองก็เห็น
แต่ก็ปล่อยให้เป็นไปตามนั้นเพราะถือว่ากรรมการในสนามเป็นผู้ชี้ขาดคนสุดท้าย

หลังจากนั้นในอีกสนามหนึ่ง
กรรมการตัดสินให้ทีมอาร์เจนตินาได้ประตูเม็กซิโก
ทั้งๆที่มีการล้ำหน้าซึ่งผิดกติตาฟุตบอล

ความผิดพลาดและความไม่ยุติธรรมในการตัดสินของกรรมการเช่นนี้เกิดขึ้นในมหกรรมฟุตบอลโลกทุกครั้งที่ผ่านมา
แต่ฟีฟาก็ยืนยันว่าจะไม่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยตัดสินเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสนาม

ขณะที่ทีมเยอรมนีและทีมอังกฤษแข่งขันอยู่นั้น นางแองเจลา แมร์เคิล
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ซึ่งนั่งชมการแข่งขันหน้าทีวี.กับนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่แคนาดา
ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงได้แต่ปลอบใจนายกฯอังกฤษว่า
เอาไว้แก้ตัวกันใหม่ครั้งหน้าก็แล้วกัน

เพียงสองกรณีดังกล่าวในสนามฟุตบอลทำให้เราเห็นว่ามนุษย์นั้นผิดพลาดได้เสมอ
ต่อให้กรรมการมีความชำนาญในสนามมากเพียงใดก็ตาม
โชคดีที่เป็นกีฬาฟุตบอลและเป็นทีมจากยุโรปที่ผู้คนมีน้ำใจนักกีฬา
ยอมรับการตัดสินชี้ขาดของกรรมการในสนาม
กีฬาฟุตบอลก็ไม่กลายเป็นความโกลาหลวุ่นวาย

ถ้าเป็นทีมชาติไทยเจอสภาพแบบนี้ก็มีหวังได้เห็น "บอลไทยไปมวยโลก" แน่
เมื่อมหกรรมฟุตบอลโลกจบลง ทุกอย่างก็จบไป
แต่ก็เชื่อได้ว่าความผิดพลาดและความไม่ยุติธรรมเช่นนี้ก็คงเกิดขึ้นอีก

แต่ชีวิตจริงไม่ใช่มหกรรมกีฬาหรือการแข่งขันฟุตบอลที่เมื่อการแข่งขันจบแล้ว
ทุกอย่างก็จบลงไปด้วย
เพราะมหกรรมชีวิตของมนุษย์จะปิดฉากก็ต่อเมื่อมนุษย์ตายจากโลกนี้ไป
ถ้ามนุษย์ไม่ได้รับความยุติธรรมขณะมีชีวิต
มนุษย์ก็ต้องเรียกร้องความยุติธรรมอยู่ร่ำไป

นอกจากนี้แล้วเพื่อนพ้องพี่น้องของเขาซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่ยุติธรรมก็จะออกมาเรียกร้องความยุติธรรมด้วย
นานวันเข้าเสียงเรียกร้องความยุติธรรมจากปากก็จะดังระงมไปทั่วทั้งเมือง
และเมื่อไม่ได้รับความยุติธรรม
เสียงเรียกร้องจากปากก็จะกลายเป็นเสียงปืนและระเบิดแทน

ที่ไหนไร้ความยุติธรรม ที่นั่นมักจะมีการต่อสู้เสมอ
เพราะความยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด
ทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์เป็นผู้ทรงยุติธรรม
เมื่อพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา
พระองค์ได้ประทานคุณสมบัติแห่งความยุติธรรมเป็นธรรมชาติติดตัวมนุษย์มาด้วย
ธรรมชาติเช่นนี้เห็นได้แม้แต่ในตัวเด็ก ลองดูสิครับ
ถ้าพ่อแม่ซื้อของให้ลูกไม่เท่ากัน
ลูกคนไหนที่ได้น้อยกว่าหรือไม่ได้รับเหมือนคนอื่นก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม
และเขาจะแสดงปฏิกิริยาทันที

ความยุติธรรมจึงเป็นธรรมที่สร้างความสงบให้แก่สังคม
เพราะความยุติธรรมช่วยสร้างความสมดุลทางสังคมไม่ให้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของคำว่าลำเอียง
เรือที่ไม่สมดุลและเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดมากๆเข้า
ในที่สุดก็ต้องล่มลงเป็นธรรมดา

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผู้พิพากษาจึงมีอุดมคติในการตัดสินว่า
"ปล่อยคนผิดไปสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน"

แม้ชีวิตมนุษย์บนโลกใบนี้จะสิ้นสุดลงตรงความตาย
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามหกรรมชีวิตของมนุษย์จะสิ้นสุดลง
เพราะบนโลกใบนี้ความยุติธรรมที่แท้จริงและสมบูรณ์ยังไม่เกิดขึ้น

หลายคนบนโลกนี้ทำดีแทบตาย แต่ยังไม่ได้รับการตอบแทนความดี
บางคนทำดีเพียงนิดเดียว
แต่ได้รับการตอบแทนความดีมากมายอย่างน่าเหลือเชื่อ มิหนำซ้ำบางคนทำชั่ว
แต่กลับได้ดีมีหน้ามีตา มีฐานะอยู่ในสังคม

คนทำชั่วบางคนใช้เงิน อำนาจหน้าที่วิ่งเต้นให้ตัวเองพ้นจากการถูกลงโทษ
บางคนถูกลงโทษไม่สาสมกับความชั่วที่ตัวเองได้ทำไว้
ฆาตกรบางคนสังหารเหยื่ออย่างเหี้ยมโหดต่อหน้าลูกเมีย
แต่ถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต
แม้การลงโทษฆาตกรด้วยการประหารชีวิตภายในเสี้ยววินาทีก็ไม่สาสมกับความทรมานที่เหยื่อของฆาตกรได้รับ

ถ้าตีราคาชีวิตต่อชีวิตว่ามีค่าเท่ากัน
ในโลกใบนี้ก็ยังไม่มีศาลของประเทศใดสามารถนำตัวอาชญากรสงครามที่สั่งฆ่าผู้บริสุทธิ์นับล้านคนมาลงโทษได้อีกหลังจากที่อาชญากรผู้นั้นถูกประหารชีวิตไปแล้ว

บนโลกใบนี้ไม่มีระบบกฎหมายใดๆที่สามารถสร้างความยุติธรรมที่แท้จริงและสมบูรณ์ได้
ดังนั้น
ความยุติธรรมที่แท้จริงจึงต้องถูกเลื่อนไปโลกหน้าซึ่งวันเวลายาวนานกว่าโลกนี้และมีพระเจ้าผู้ทรงยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาเอง

สวรรค์และนรกจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความยุติธรรมของพระเจ้า
หากไม่มีสวรรค์และนรก
มนุษย์ก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริงและสมบูรณ์

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 266 วันที่ 3 -9 กรกฎาคม
พ.ศ. 2553 หน้า 26คอลัมน์ สันติธรรม โดย บรรจง บินกาซัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

You may post your comments here.
หากท่านมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือเสนอแนะเชิญออกความเห็นได้
(กรุณาใช้ข้อความสุภาพ และสร้างสรรค์)