การพัฒนาคริสตจักรเพื่อสร้างอาณาจักร(เทียมหรือแท้้)

มีคนหนึ่งเขาเขียนประสบการณ์การรับใช้ไว้น่าฟังทีเดียว ผมเลยเอามาฝาก

บทความและข้อคิดเห็นนี่น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างที่คริสเตียนได้ทำ สมควรทำ และบางสิ่งที่สมควรปรับปรุง  แน่นอนที่เดียว  เราไม่สามารถจะหาคริสตจักรที่สมบูรณ์แบบได้  แต่พวกเรากำลังพยายามก้าวไปข้างหน้ากับพระเจ้า  การเลือกอยู่คริสตจักรใด ย่อมเป็นสิทธิอันชอบที่บุคคลพึ่งมีสิทธิในการเลือก  มันขึ้นอยู่กับว่า  ผู้เชื่อคนนั้นอยากจะเป็นคริสเตียนแบบไหน สำหรับคริสเตียนหย่อนยาน หรืออ่อนแอ  คงไม่สนใจที่จะเลือกหรอกเพราะ การไปโบสถ์มันขึ้นอยู่กับอารมณ์และทรงผม

อาจารย์และคณะกรรมการจะทำอะไร  จะสอนอะไรเขาก็คงไม่สนใจอะไร  บางคนอยู่ไปอย่างนั้นแบบไม่รู้ว่า แท้จริงพระเจ้าต้องการให้เขาทำอะไร ต้องพัฒนาชีวิต และความเชื่อไปถึงตรงไหน  บ้างเป็นคนในศาสนาเพื่อให้แน่ใจว่า ตายแล้วจะมีที่ฝัีงศพ  บ้างไม่ได้ไปโบสถ์หลายปี  แต่ไม่ยอมลาออก  เพราะยังอยากมีสิทธิฝังศพในสุสานคริสเตียนใกล้ๆ ญาติี่พี่น้องที่เป็นคนในศาสนาคริสต์

ชายคนหนึ่งได้เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเองกับคริสตจักรแห่งหนึ่ง  พอสังเขปเพื่อสะท้อนประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตการเป็นคริสเตียนของเขา ดังนี้

ชีวิตการรับใช้กับคจ.X ของข้าพเจ้า

(เรื่องจริงเขียนโดยคุณ กศ.
)
เมื่อข้าพเจ้ารับเชื่อที่คจ.X ได้ 3 เดือน ข้าพเจ้าได้ถูกมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยง และได้ประกาศนำคนมารับเชื่อ แล้วก็ได้เลี้ยงดูผู้เชื่อใหม่ ในปีถัดมา ผมก็ถูกผู้นำแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเซลล์




ช่วงนั้นนโยบาย คจ.X ต้องการขยายคริสตจักรให้คนมากที่สุด เราเลยต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะนำคนมา คจ. จึงออกนโยบายเพื่อจูงใจ   โดยจัดให้มีการแข่งขันผู้นำดีเด่นในแต่ละดับชั้น 
นโยบายที่ทาง คจ.X ออกมา คือ 1 .ให้ทุกคนนำหนึ่งคนมาเป็นอย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ 2. ให้ทุกคนอภิบาลคนสำหรับพี่เลี้ยงอย่างน้อย 1 คน หัวหน้าเซลล์อย่างน้อย 3 คน หัวหน้าหน่วยอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 สัปดาห์ 3. ต้องรายงานต่อผู้ช่วยหัวหน้าส่วนทุกฯสัปดาห์ ถ้าคนไหนท่าทีดีผู้ช่วยหัวหน้าส่วนจะเข้าไปใช้เวลาด้วย 4. จัดมีการอบรมสัมมนาทุกๆ สัปดาห์สร้างผู้นำ
ใน ปีถัดมาข้าพเจ้ามีคนอยู่ในความดูแล 20-30 คน ข้าพเจ้าจึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยมีอยู่ 5 เซลหรือแคร์ หัวหน้าหน่วยเป็นหน่วยปฏิบัติการใน คจ.X เพราะจะเป็นคนลงพื้นที่ที่รับผิดชอบ 
หน้าที่ หัวหน้าหน่วยมีหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูหัวหน้าเซล 5 คนและพี่เลี้ยงที่ท่าทีดีอีก 2-3 คนในหนึ่งสัปดาห์ และมีหน้าที่ติดตามผลผู้เชื่อใหม่ด้วย 
ตอน ที่ผมเป็นหัวหน้าหน่วยผม เริ่มมีชีวิตที่ไม่สมดุลแล้วเพราะไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย และไม่มีเวลาที่จะเข้าหาพจ.ส่วนตัวจริงๆ ฉะนั้นถึงตำแหน่งในการรับใช้จะสูงขึ้นแต่จิตวิญญาณกลับถดถอยเพราะโปรแกรม คจ. แน่นเอี๊ยด ผมเชื่อว่ามีคนมากมายใน คจ.Xที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอนุชน ซึ่งพวกเขาอาจจะมีท่าทีแข่งขันกันใน คจ. ซึ่งเมื่อพวกเขาโตขึ้นก็ต้องไปเข้ากลุ่มโปร (คือกลุ่มคนทำงาน) แล้วทัศนคติของพวกเขาที่ให้กับพจ.ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เริ่มถอยในการรับใช้ เนื่องจากความไม่เข้าใจในการรับใช้พจ.อย่างถูกต้อง ฉะนั้น หลายคนที่ในอดีตเคยทุ่มเทรับใช้พจ. จึงมีเหลือน้อยคนมากที่ยังรับใช้อยู่ในตอนนี้ (หรือยากที่มีใครรับใช้ในระยะยาว) 
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว คจ.X ก็จะเน้นไปที่กลุ่มอนุชน เพราะกลุ่มอนุชนสร้างแรงเหวี่ยงได้มาก 
ใน ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ผมเกิดความรู้สึกและคำถามขึ้นมาในใจว่า ทางคจ. เน้นสถิติมากเกินไปหรือเปล่า หรือผมก็คิดว่าผมเองอาจจะคิดผิด หรือคิดไปเองคนเดียว แต่เมื่อผมถามเพื่อน เขาก็เปิดเผยว่าเขาก็คิดเหมือนผมเช่นกัน 
อย่าง ไรก็ตาม ในปี 1992 ผมตัดสินใจเรียนพคภ.ที่ คจ.X เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเองให้ถูกต้อง โดยเรียนหลักสูตรเตรียมสาวก 4 เดือน และต่อหลักสูตรเตรียมผู้รับใช้อีก 4 เดือน แล้วก็ต่อหลักสูตรระดับปริญญาตรีอีก 2 ปี แต่ผมเรียนไม่จบ ต้องพักการเรียนไว้ก่อน

ต่อมาในปี 1993 ทาง คจ.Xก็มอบหมายให้ผมรับผิดชอบเป็นหัวหน้าแขวงซึ่งรับผิดชอบคนมากขึ้น ประมาณ 60 คน ตอนนั้น ผมรับผิดชอบงานรับใช้มากขึ้น แต่จิตวิญญาณของผมกลับตกต่ำลงเพราะไม่มีเวลาส่วนตัวกับพจ.เลย มีแต่โตตามระบบของคจ.X
 
ผม เริ่มอยากจะเปลี่ยนสถานที่ในการรับใช้ เพราะอาจจะดีขึ้นในเรื่องจิตวิญญาณของตนเอง พอดีมีผู้นำเรียกออกไปรับใช้ที่จังหวัดหนึ่งเพราะใกล้ปี 2000 แล้ว ขณะนั้น คจ.X มีนิมิตใหญ่คือต้องมีคจ.Xให้ถึงจำนวน.....แห่ง ซึ่งการที่คจ.Xสอนเสมอว่าต้องเชื่อฟังผู้นำ ผมจึงออกไปรับใช้ที่นั่น 2 ปี 
ช่วง 2 ปีนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมากสำหรับผม เพราะตอนแรกคิดว่าคจ.แม่จะช่วย แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย มีสมาชิกที่อยู่ที่นั่นประมาณ 7-8 คน แต่ละคนก็ไม่ได้ถวายสิบลดสัตย์ซื่อ แต่เนื่องจากมีเพื่อนขึ้นไปช่วยประจำ 2 คนก็รวมเป็น 9 คน มีเงินถวายเดือนละพันกว่าบาท รถก็ไม่มีให้ ผมต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ขี่วิ่งรอกทุกอำเภอทั้งหมดมี 18 อำเภอ โดยวันพุธกับวันอาทิตย์จะต้องอยู่ที่ตัวอำเภอเมืองเพื่อทำกลุ่มเซลล์กับคจ. วันอาทิตย์ ส่วนในวันจันทร์ อังคาร พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ก็ต้องขี่มอเตอไซค์ไปไกลถึงวันละประมาณ 3-4 อำเภอ ซึ่งบางอำเภอก็อยู่ไกลถึง 100 กว่ากิโลเมตร ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนประมาณหมื่นกว่าบาท แต่มีรายรับพันกว่าบาท 
ช่วง 2 ปีที่ผมอยู่นั้นก็ไม่ได้เกิดผลอะไรมากมาย เพราะขาดปัจจัยหลายอย่าง ตอนที่ผมส่งต่องานนั้น ในอำเภอเมืองมีสมาชิก 22 คน ต่างอำเภอทั้งหมด 17 อำเภอ มีสมาชิกรวมกันไม่เกิน 30 คน 
หลังจากนั้นผมก็กลับกรุงเทพ มารับใช้ที่คจ.Xในกรุงเทพ โดยรับใช้ในกลุ่มโปร
แต่ จากนั้นไม่นานผมก็หลงหายเพราะธุรกิจล้ม ผมหลงหายอยู่นานถึง 8 ปี แต่ถึงกระนั้น ต่อมาผมก็ได้นิมิตจากพจ. ผมก็เลยหันกลับมาหาพจ.ได้ 2 ปี และเริ่มรับใช้ใหม่อีกครั้ง...ด้วยตนเอง
 
ตอน ที่ผมอยู่คจ.Xนั้นมีความรู้สึกว่า สิ่งที่ผมทำไปนั้น เป็นการทำเพื่อพจ. ซึ่งนั่นทำให้ผมทุ่มเทมากในแต่ละวัน แต่ก็มีความรู้สึกว่าเป็นภาระและงานรับผิดชอบมากกว่า ไม่ได้ใกล้ชิดติดสนิทกับพจ. ทำให้ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณมีแต่ฮึกเหิมภายนอกเท่านั้น แต่ภายในกลวงมากและพร้อมที่จะหลงหายทุกเมื่อ 
แต่ ผมยอมรับคจ.Xในสิ่งหนึ่งคือ ความทุ่มเทเสียสละและความภักดีและการเชื่อฟังสูงมาก ทำให้แม้ผู้นำทำผิดก็ยังบอกว่าถูก สิ่งที่ถูกปลูกฝังมาทำให้ติดนิสัยภักดีต่อผู้นำอย่างมาก แม้จะไม่เข้าใจผู้นำก็ตามที 
แรก ๆ ผมเข้าใจผิดคิดว่าคจ.Xเป็นคจ.ที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพราะมีการเติบโตเร็วที่สุด แต่เราก็ทำงานหนักจริง ๆ จนเกิดกระแสผู้ปกครองนักเรียนต่อต้าน ก็เลยปรับกิจกรรมให้น้อยลงเรื่อย ๆ และในเขตผมมีการแต่งตั้งหัวหน้าเขตมาจากสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้ปกครอง ทั้ง ๆ ที่ท่าทีผิดกับพจ.อย่างมากที่เห็นแก่สถิติมากกว่าดวงวิญญาณ เห็นคนเข้ามาส่งก็จะนับเป็นสถิติทำไมก็ไม่รู้ ก็ได้แต่เชื่อฟังผู้นำ 
ใน สมัยที่ผมอยู่ในคจ.Xผมก็ไม่รู้จักกับคจ.อื่นเลย เพราะมีการปิดกั้นข่าวจากคต.และคจ.อื่นๆ ภายนอก มีแต่การจัดสัมนาที่โบสถ์ ผมและสมาชิกอื่นๆ จึงไม่เคยได้ยินข่าวสารจากวงการคต.ข้างนอกเลย ตลอด10กว่าปีถูกสอนตลอดให้เข้าใจว่า คจ.Xเป็นคจ.ที่ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปไหน แต่หลักข้อเชื่อก็เหมือนกับโบสถ์อื่นๆ และการอภิบาลของคจ.ดูแล้วเข้มข้นมาก เลยเขาถูกปลูกฝังให้ทำงานหนัก รับผิดชอบอย่างดี โดยบางคนไม่มีเวลาก็ถูกท้าทายให้รับผิดชอบงานต่างๆ 
ส่วน ใหญ่ในคจ.Xจะเน้นการขยายของกลุ่มอนุชนเพาะสร้างแรงเหวี่ยงได้ดี ส่วนกลุ่มโปรจะเน้นการถวายทรัพย์ และผู้ช่วยหัวหน้าส่วนจะดูแลหัวหน้าเขต ส่วนหัวหน้าเขตจะดูแลหัวหน้าแขวง หัวหน้าแขวงถือว่าเป็นผู้บริหารระดับกลาง ดูแลหัวหน้าหน่วยและหัวหน้าแคร์ และส่วนใหญ่เขาจะเน้นการดูแลอนูชนเป็นหลัก 
ส่วน โครงสร้างนั้นจะดูแลกลุ่มคนคล้าย บวกกับหลักภูมิศาตร์ เพื่อจะดูแลได้ง่ายขึ้น เพราะจะเป็นไปตามกลุ่มคนคล้าย และการเดินทางก็จะง่ายขึ้น และก็จะดูแลได้ทั่วถึง สรุปก็คือเช่นในเขตสัมพันธวงค์ ก็จะมีกลุ่มโปร กลุ่มบ้าน กลุ่มสถาบัน เพื่อจะได้ง่ายต่อการดูแลและการเดินทาง และจะทำให้สามารถเข้ากับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มได้ 
อย่าง ไรก็ตาม เขาจะเน้นความจงรักภักดีและการไว้ใจผู้นำเชื่อใจผู้นำเป็นหลัก แม้ผู้นำจะสั่งการอะไรก็ตาม และมีการใช้เงินของคจ.Xไปในทางไม่ถูกต้องโดยปกปิดบัญชีทุกอย่าง
ส่วนการอภิบาลเขามีโครงสร้างและระบบที่ดีมาก ทำให้สามารถดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง มีการปกครองเป็นระดับชั้น ด้านการพัฒนาคนเขาก็มีโครงสร้างการอบรม การสัมมนาบ่อยๆ เพื่อพัฒนาสู่การรับใช้ ด้านการเพิ่มพูนคริสตจักรเขาก็ทำได้ดีมาก มีโครงการประกาศ 1 นำ 1 ภายใน 1 สัปดาห์ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มอนุชนทำเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีแรงเหวี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นใด

[บทความที่มีคุณค่าจากข่าวคริสตชน]

คริสตจักรอันตราย (Abusive Church)

คริสตจักรที่ทำอันตราย
โดย ดร.ศิลป์ชัย  เชา์ว์เจริญรัตน์

ไม่นานมานี้ผู้เขียนต้องศึกษาค้นคว้าสำหรับการสอนวิชา "ลัทธิเทียมเท็จ" ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่คริสตชนทั่วไปถือกันว่าเป็นกลุ่มความเชื่อที่ถือตนว่า เป็นคริสตชนแต่ยึดหลักความเชื่อที่ผิดจากพระคัมภีร์  ในการศึกษาค้นคว้าก็พบว่าน่าเบื่อพอสมควร เพราะเนื้อหาก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ทราบๆ กันพอสมควรอยู่แล้ว  รายชื่อของกลุ่มลัทธิเทียมเท็จก็เป็นชื่อเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพยานพระยะโฮวาห์ (Jehovah's Witnesses) มอร์มอนหรือสิทธิชนยุคสุดท้าย (Mormonism) ลัทธิบุตรพระเจ้าหรือครอบครัวแห่งความรัก (Children of God หรือ Family of Love)  มูน (Unification Church หรือ Moonism) คริสตจักรอัครทูตใหม่ (The New Apostolic Church)  คริสเตียนวิทยาศาสตร์ (Christian Science) เนื้อหาก็เกี่ยวกับว่าแต่ละกลุ่มมีประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร หลักความเชื่อที่ว่าผิดนั้นผิดอย่างไรบ้าง และคริสตชนจะโต้แย้งกลุ่มคำสอนผิดเหล่านี้อย่างไร ท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงทราบเรื่องเหล่านี้พอสมควรอยู่แล้ว


แต่ขณะที่เืบื่อๆ อยู่นั้น จู่ๆ ก็มีเหตุทำให้สะดุ้งขึ้นมาก็คือ จากการค้นคว้าได้พบข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บอกว่า ปัจจุบันนี้ คริสตจักรในแบบทั่วๆไปที่ไ่ม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มลัทธิเทียมเท็จ และหลักความเชื่อก็ดูเหมือนถูกต้อง กลับมีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากลัทธิเทียมเท็จ และสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเผลอๆ อาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้คนไม่ทันระวังตัวเนื่องจากดูผิวเผินก็เป็นเหมือนกับคริสตจักรทั่วไป และมีความสัมพันธ์กับคริสตจักรทั่วไปด้วย ทั้งคริสตจักรก็อาจจะดูใหญ่โต เร้าใจ ร้อนรน คนก็เยอะ  เต็มด้วยความรักความอบอุ่น

คริสตจักรประเภทนี้เริ่มถูกจัดประเภทเป็นกลุ่มใหม่ โดยไม่ถูกเรียกว่าเป็นลัทธิเทียมเท็จ แต่ถูกแยกเป็นอีกประเภท โดยถูกเรียกว่าเป็น "Abusive Church" หรือแปลเป็นไทยๆ ว่า "คริสตจักรอันตราย"

ทุกวันนี้มีหนังสือและเวบไซท์ต่างประเทศมากมายและมากขึ้นเรื่อยๆ ที่รายงานเกี่ยวกับคริสตจักรประเภทนี้ว่าสร้างความเสียหายแก่ชีวิตผู้คน ซึ่งก็หมายถึงสมาชิกและบุคคลแวดล้อม อย่างมาก  และยังแนะนำวิีธีที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาบรรดาผู้ที่รับผลร้ายเหล่านี้ ด้วย   คริสตจักรประเภทนี้มีไม่น้อยในประเทศตะวันตก แต่ทุกวันนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วโลก แน่นอนประเทศไทยด้วย  
  
หลังสือบางเล่มที่พูดถึงคริสตจักรอันตราย
เล่มนี้ชื่อ "คจ.ที่ทำอันตราย"
ส่วนเล่มนี้ชื่อ "การฟื้นสภาพจากคริสตจักรที่ทำอันตราย"

แล้วจะดูได้อย่างไรว่าที่ไหนเป็น Abusive Church ? 

ดูยาก  เป็นที่ยอมรับกันว่า จุดที่ทำให้คริสตจักรอันตราย หรือAbusive Church เหล่านี้อันตรายกว่าลัทธิเทียมเท็จก็คือ มันดูเหมือนคริสตจักรทั่วไป  และแฝงอยู่ในคณะทั่วไป ไม่ใช่คณะของตนเองต่างหาก  หรือบางทีมันอาจเป็นเฉพาะกับศิษยาภิบาลท่านนี้ท่านเดียว แต่คริสตจักรอื่นในคณะเดียวกันที่มีศิษยาภิบาลท่านอื่นดูแลก็ไม่ได้เป็น เหมือนกัน   ฉะนั้น เพียงแค่อ่านชื่อคริสตจักรหรือชื่อคณะ เราจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าที่นี่เป็นหรือไม่ ต้องดูลึกๆ ถึงจะรู้   และอีกอย่างคือ ไม่แยกด้วยว่าเป็นคาทอลิกหรือโปรเตสแต๊นท์  เพราะขณะนี้มีข่าวฉาวของทั้งสองนิกายดังไปทั่วโลก

ต้องเข้าใจไว้ว่า  การเป็นลัทธิเทียมเท็จดูกันที่หลักข้อเชื่อเป็นหลัก   แต่คริสตจักรอันตรายหรือAbusive Church ไม่อาจแยกแยะได้จากหลักข้อเชื่อ   เพราะหลักข้อเชื่อจะเหมือนกับคริสตจักรทั่วๆไปทุกประการ   คริสตจักรประเภทนี้เมื่อถูกคนวิจารณ์ว่าสอนผิดหรือสอนเพี้ยน  พวกเขาก็มักจะตอบทันทีว่าให้เปิดธรรมนูญตรวจสอบดูได้เลย(หรือแม้แต่ดูบท เรียนสมาชิกได้เลย) ว่ามีหลักข้อเชื่อใดที่ผิดบ้าง  ซึ่งก็จะพบว่าไม่มี   แต่ สิ่งที่ผิดจะแทรกอยู่ในกระบวนการบริหารหรือปรัชญาการรับใช้  ซึ่งไม่มีเขียนไว้ในธรรมนูญ!  แต่สอนกันด้วยวาจาและแฝงอยู่ในระบบบริหารภายใน

ถึงกระนั้น จากการประมวลจากแหล่งข้อมูลโดยรวม มีการบ่งชี้คล้ายๆ กันว่า ลักษณะที่พอสังเกตได้ว่าเป็นคริสตจักรอันตรายจะมีลักษณะทำนองนี้

1. เน้นความสูงส่งและสิทธิอำนาจของผู้นำคริสตจักรมาก  ให้สมาชิกเคารพยกย่องผู้นำแบบสูงเด่น จนเป็นรองถัดจากพระเ้จ้า  และถือว่าผู้นำมีสิทธิอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  สมาชิกต้องเชื่อฟังผู้นำแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีสิทธิตรวจสอบและถ่วงดุลหรือแม้แต่ซักถาม นอกจากนั้นชีวิตส่วนตัวของผู้นำมักเป็นเรื่องปิดลับคลุมเครือ โดยเฉพาะเรื่องรายรับรายจ่าย ทรัพย์สิน การใช้เวลาส่วนตัว ประวัติความเป็นมา รวมทั้งการทำตนให้เป็นบุคคลพิเศษที่เ้ข้าถึงยากมากๆ

คริสตจักรแบบนี้จะเน้นการสร้างให้สมาชิกภักดีต่อผู้นำสูงสุดอย่างมากจนสุด โต่ง เช่น การเทศนาต้องทำโดยผู้นำสูงสุดคนเดียวเท่านั้น คนอื่นในคริสตจักรแทบไม่มีสิทธิเทศน์ หรือถ้าผู้นำไม่อยู่ก็ต้องใช้เทศน์อัดวีดีโอแล้วเปิดให้ดูแทน หรือต้องเชิญนักเทศน์จากต่างประเทศมาแทน เพื่อให้คนผูกติดกับผู้นำสูงสุดเท่านั้น แม้แต่การรับบัพติศมาก็รับกับคนอื่นไม่ได้ ต้องรับกับผู้นำสูงสุด วางค่านิยมของคริสตจักรว่าสมาชิกต้องเชื่อฟังศิษยาภิบาลในระดับเดียวกับการ เชื่อฟังพระเจ้า  การไม่เชื่อฟังศิษยาภิบาลเท่ากับไม่เชื่อฟังพระเจ้า จะเน้นคำสอนว่า ห้ามวิจารณ์ผู้นำ ห้ามตรวจสอบผู้นำ ทั้งๆที่มีเรื่องที่ชวนสงสัยว่าผู้นำทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มักจะเน้นว่า "ห้ามแตะต้องผู้นำ" เหมือนกรณีดาวิดที่ไม่แตะต้องซาอูล ให้เชื่อฟังผู้นำอย่างเดียว แล้วให้ผู้นำรับผิดชอบส่วนตัวกับพระเจ้าเอง สมาชิกไม่มีสิทธิก้าวล่วงผู้นำ  หรือถ้าสมาิชิกทำผิด จะมีการลงโทษลงวินัย แต่ถ้าผู้นำทำผิดเรื่องเดียวกัน จะไม่มีการลงโทษ หรือโทษจะเบากว่า หรือไม่ก็มีการช่วยกันปกปิด  (ดังที่กำลังเป็นข่าวดังทั่วโลก)
       นอกจากนี้ จะมีการสร้างค่านิยมว่าการได้ใกล้ชิดผู้นำถือเป็นสิทธิพิเศษ เป็นพรพิเศษ คนที่ทำประโยชน์ให้คริสตจักรมากจะได้ใกล้ชิดผู้นำมากกว่าคนที่ทำประโยชน์ น้อย


2. ชีวิตถูกควบคุมโดยผู้นำและระบบคริสตจักรแบบเบ็ดเสร็จ  ชีวิตของ สมาชิกอยู่ใต้การควบคุมดูแลของผู้นำและ/หรือบุคคลที่ผู้นำมอบหมายมาเป็น ลำดับขั้น โดยแทบไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งยังมีการตั้งกฏระเบียบที่ควบคุมชีิวิตส่วนตัวของสมาชิกในรายละเอียดมาก  เช่น จะใช้เวลาอย่างไร จะใช้เงินอย่างไร จะคบใครไม่คบใคร และ่ระบบคริสตจักรสามารถตามไปควบคุมในรายละเอียดได้ทั้งหมด และต้องเปิดเผยชีวิตแทบทุกส่วนต่อคริสตจักร เช่น รายรับรายจ่าย เงินในบัญชี การถวายทรัพย์ก็ต้องแจ้งตัวเลข ประวัติชีวิตทุกอย่างต้องแจ้งรายละเอียด ทำผิดอะไรต้องสารภาพอย่างเปิดเผยทั้งหมด   เก็บเป็นเรื่องส่วนตัวที่บอกเฉพาะกับพระเจ้าไม่ได้   และต้องสารภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ให้รู้สึกผิดเสมอๆ และไม่เคยดีพอ   จะทำอะไรต้องได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกงาน มีแฟน แต่งงาน ฯลฯ   ปัจจุับันมักมาในรูปของคำสอนเรื่องการปกคลุมฝ่ายวิญญาณ (Covering) ว่าต้องพึ่งผู้นำทุกเรื่องต้องปรึกษาทุกเรื่อง และต้องเชื่อฟังทุกเรื่อง จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปเลย! 

3. ดึงสมาชิกให้ออกห่างจากครอบครัวและสังคมเพื่อนฝูงเดิมๆ มาอยู่แต่กับคริสตจักรนี้  กิจกรรมต่างๆ พี่เลี้ยง และกฎระเบียบ จะดึงเขาให้ออกจากสังคมเดิมทีละน้อยๆ จนชีวิตมีแต่กิจกรรมและเพื่อนในคริสตจักรนี้เท่านั้น จนถอนตัวก็ไม่ได้เพราะขาดจากสังคมเดิมไปแล้ว  เหลือแต่สังคมนี้เท่านั้น เรื่องนี้ยังรวมไปถึงห้ามคบพี่น้องคริสตชนต่างคริสตจักรหรือต่างคณะ หรือห้ามทำความรู้จักกับผู้นำของคริสตจักรอื่น

4. สมาชิกถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ไม่ให้เสรีภาพในการรับรู้ การคิด การตัดสินใจ และการสื่อสาร ถูกปกปิดทั้งข้อมูลภายในและภายนอก ข้อมูลเกียวกับการบริหารภายในหรือข้อมูลการเงิน สมาชิกไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้ และีมีส่วนร่วม   ขอดูขอตรวจสอบไม่ค่อยได้   นอกจากนี้ ข่าวสารภายนอกก็ถูกปกปิดด้วย มักจะห้ามหรือไม่สนับสนุนให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือแนวคิดของสังคมโลกหรือ สังคมคริสตชนอื่นๆ จะให้รับรู้ข้อมูลที่ออกมาจากทางคริสตจักรและผู้นำเท่านั้น หรือมิฉะินั้นก็ต้องได้รับอนุญาตจากทางคริสตจักรก่อนจึงจะไปรับรู้ได้ รวมทั้งห้ามไปร่วมนมัสการที่อื่น ห้ามฟังเทศน์ของนักเทศน์อื่น ห้ามอ่านหนังสือของที่อื่น ที่ไม่ได้ผ่านการรับรองจากทางคริสตจักรหรือผู้นำ

5. เน้นการเชื่อในผู้นำโดยไม่เปิดให้มีส่วนร่วม    มักเ้น้นให้เืชื่อผู้นำเท่านั้น ไม่เน้นให้มีการคิด การซักถาม การอภิปราย หรือแม้แต่การโต้แย้ง ถือว่าทุกอย่างที่ผู้นำพูดล้วนแต่ได้รับการสำแดงมาจากพระเจ้าโดยตรง โดยห้ามซักถาม    ไม่ตอบคำถามอย่างเปิดเผย   ไม่ชี้แจง  นิ่งเงียบให้ผู้คนลืม  และไม่ยอมให้คิดแตกต่าง

6. เน้นให้สมาชิกรับใช้ตามนโยบายของผู้นำอย่างเต็มที่โดยมองข้ามหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆในชีวิต    การ รับใช้อย่างเต็มที่จะรวมทั้งด้านการอุทิศเวลาและการถวายทรัพย์อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้สนใจถึงความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ที่บุคคลนั้นต้องทำอย่างสมดุล การถวายทรัพย์มักถูกถือเป็นการรับใช้ที่สูงเด่นเหนือการรับใช้อื่นๆ เช่นถือว่าการถวายสิบลดสำคัญกว่าการเป็นพยาน หรือการพยายามเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ไม่ดี และนั่นก็มักรวมไปถึงว่าสมาชิกที่มีฐานะดี ถวายทรัพย์ได้มากก็มักจะได้รับการต้อนรับดูแลเป็นพิเศษเหนือกว่าผู้ที่ฐานะ ไม่ดี หรือใครที่ทำประโยชน์ให้กับคริสตจักรได้มากก็จะถูกถือว่าดีกว่าคนที่รักพระ เจ้าแต่ทำประโยชน์ให้คริสตจักรได้น้อย  เน้นให้สมาชิกรู้สึกว่าการร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโบสถ์สำคัญกว่าทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่เรื่องอื่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อฟังพระเจ้ารับใช้พระเจ้าเหมือนกัน

อนึ่ง เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า การร้อนรนในการรับใช้เป็นเรื่องดี รับใช้สุดชีวิตเป็นเรื่องดี แต่ต้องทำด้วยความสมดุล ว่าหน้าที่รับผิดชอบด้านอื่นต้องทำด้วย และต้องทำโดยมุ่งรับใช้พระเจ้าจริงๆ ไม่ใช่ทำเพราะถูกครอบงำโดยผู้นำ ด้วยกลไกทางจิตวิทยา สุดท้ายแทนที่จะรับใช้พระเจ้ากลายเป็นรับใช้ผู้นำไป

เล่มนี้ชื่อ "สมาชิกของ
คริสตจักรที่เป็นอันตราย"
และที่น่าคิดด้วยคือ บางครั้งผู้นำให้สมาชิกอุทิศชีวิตทุ่มเทการรับใช้ในการรับใช้  ในขณะที่ตนเองไม่ได้อุทิศในระดับเดียวกัน หรือไม่ได้ให้คนในครอบครัวของตนเองทำในระดับเดียวกัน

7. เน้นที่การทำผลงานตามนโยบายของผู้นำจนมองข้ามการยึดหลักคำสอนและหลักจริยธรรมที่ถูกต้อง คริสตจักรประเภทนี้มักจะเน้นการเิกิดผลเชิงปริมาณมาก ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี และไม่ได้ผิดอะไร แต่มีปัญหาเมื่อเน้นมากจนถือว่าใช้วิธีอะไรก็ได้ ซึ่งหลายๆ วิธีเหล่านั้นผิดต่อหลักคำสอนที่ถูกต้องของพระคัมภีร์ และผิดหลักจริยธรรมด้วย ตัวอย่างเช่น รับใช้จนทิ้งการเรียนการทำงานที่มีอยู่ ยอมเลิกงานเร็วกว่าปกติเพื่อไปทำกลุ่มเซลล์เป็นเรื่องสำคัญโดยไม่สนใจว่าจะ เป็นการขโมยเวลางานอย่างไร หรือสร้างความเสียหายต่อนายจ้างอย่างไร  หรือชี้นำสมาชิกให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ของ ผู้นำหรือคริสตจักร

8. เน้นให้ตอบสนองนโยบายของผู้นำโดยมองข้ามสิ่งที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ต่อตัวสมาชิกแต่ละคนเอง แม้ว่าสมาชิกรู้สึกว่าตนเองมีนิมิตอะไรจากพระเจ้า หรือมีภาระใจเรื่องอะไร หากไม่สอดคล้องกับนโยบายของผู้นำ ก็ไม่สามารถไปทำได้   เรื่องนี้ยังรวมถึง การที่ผู้นำมักไม่ส่งเสริมสมาชิกให้มีโอกาสพัฒนาและเติบโตไปจนสุดศักยภาพของ แต่ละคน  แต่จะพยายามให้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ตนเองไปเรื่อยๆ  ไม่มีโอกาสเติบโตไปไกลกว่าหรือไปสูงกว่าตัวผู้นำหรือแยกไปเป็นอิสระจากผู้ นำ  หรืออาจพูดง่ายๆ ว่าห้ามโต หรือห้ามโตกว่า หรือห้ามโตไปเป็นอิสระ

9. สมาชิกต้องถูกผูกมัดเป็นลูกแกะของผู้นำตลอดไป  แนวคิดเรื่อง "ลูกแกะของผู้เลี้ยง" "ลูกแกะ-แม่แกะ" "พ่อฝ่ายวิญญาณ-ลูกฝ่ายวิญญาณ" "พี่เลี้ยง-น้องเลี้ยง" จะถูกใช้มาก แต่ไม่ได้เน้นในแง่ความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงที่ต้องเสียสละ แต่จะเน้นให้ผู้ำถูกดูแลรู้สึกว่าตนเองกลายเป็นสมบัติของ "ผู้เลี้ยง" "พ่อ-แม่ฝ่ายวิญญาณ" "พี่เลี้ยง" และต้องอยู่ใต้สิทธิอำนาจของบุคคลเหล่านี้ทุกอย่าง และต้องผูกมัดไปอย่างนี้ชั่วชีวิต ไม่อาจหลุดจากพันธะนี้ได้ จาก "พันธสัญญา" กลายเป็น "พันธนาการ" ไป!

10. เน้นว่าคริสตจักรและผู้นำที่นี่ถูกต้องที่สุดเหนือคริสตจักรอื่น  หรือโดดเ่ด่นเหนือคริสตจักรอื่น เ่ช่นที่นี่สอนดีที่สุด สอนถูกที่สุด มีฤทธิ์เดชที่สุด ศิษยาภิบาลเป็นอัครทูตคนเดียว เป็นผู้เผยพระวจนะแท้เพียงคนเดียว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเน้นให้สมาชิกภูมิใจในคริสตจักรตนเองและผู้นำตนเอง และเกิดความภักดีมากๆ เชื่อฟังมากๆ และจะไม่กล้าจากไปไหน

11. มีการผูกมัดจนเกินขอบเขต   เช่น คริสตจักรในสมัยปัจจุบันมีความ นิยมมากขึ้นที่จะให้สมาชิกต้องมีการทำพันธสัญญาเพื่อจะมีความภัำกดีและมีการ อุทิศตัว (Commitment) อย่างสูงต่อคริสตจักร จนเกิดธรรมเนียมมีการเซ็นต์พันธสัญญา (Covenant) กับผู้ำนำหรือคริสตจักรที่มีลักษณะผูกมัดมาก  ซึ่งบางทีเนื้อหาพันธสัญญาหากสังเกตดีๆ อาจพบเนื้อหาที่เรียกร้องและผูกมัดอย่างไม่ถูกต้อง หรือผูกมัดจนบุคคลนั้นสูญเสียอิสรภาพที่มนุษย์พึงมี และผูกมัดเกินคำสอนของพระคัมภีร์

12. แม้ว่าจะดูยึดถือพระคัมภีร์มาก แต่การใช้พระคัมภีร์ก็มักมีการบิดเบือนผิดหลักวิชาการตีความหมายพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง  โดย มักจะตีความพระคัมภีร์และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์เข้าข้างผู้นำและนโยบายคริสต จักรตนเสมอ โดยไม่คำนึงถึงความหมายที่แท้้จริงตามบริบทของพระคัมภีร์และภาพของคริสตจักร สากล หรือพูดได้อีกนัยหนึ่งว่า ใช้พระคัมภีร์เป็นเครื่องมือในการสร้างสิทธิอำนาจของผู้นำและคริสตจักรของตน (เนื่องจากเรื่องนี้ซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ทางวิชาการมาก คงต้องขอข้ามรายละเอียดไป ใครสนใจเรื่องนี้ลองไปอ่านบทความเรื่อง "ใช้พระคัมภีร์อย่างไรไม่ให้ผิดพลาด" ปัญหาเรื่องการตีความพระคัมภีร์เข้าข้างตัวเองเป็นปัญหาพื้นฐานของคริสตจักร เสมอมา)

เล่มนี้ชื่อ "พระวจนะที่ถูกบิดเบือน :
เส้นทางสู่การเป็นไทจากคริสตจักรอันตราย


13. ใช้ความกลัวในเรื่องสิ่งลี้ลับมาผูกมัดผู้คนอย่างไม่เหมาะสม    ทั้งๆ ที่หลายอย่างเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ เช่นผู้นำใช้การอ้างการสำแดงของพระเจ้าในเรื่องต่างๆ ที่มีต่อเขาโดยตรงมาจูงใจมวลสมาชิกให้ต้องทำตามสิ่งที่ตนชี้นำ ทั้งๆ ที่ผู้คนอาจไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ต้องจำยอมเพราะกลัวว่าตัวเองจะทำผิดต่อพระเจ้า หรือผู้นำขู่ว่าถ้าไม่ทำตามเขาก็เท่ากับต่อสู้กับพระเจ้า เพราะเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าเจิมไว้ให้เป็นผู้นำของคริสตจักร   พระเจ้าจะเทพรจากข้างบนลงมาที่ผู้นำก่อน ใครที่สนับสนุนผู้นำก็จะได้รับพรตามไปด้วย อะไรทำนองนี้

เล่มนี้ชื่อ "คริสตจักรที่เป็นพิษ :
การฟื้นสภาพจากการถูกทำร้าย
ทางจิตวิญญาณ
14. การไม่เชื่อฟังคริสตจักรหรือผู้นำจะถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรง และมีโทษที่รุนแรง   การบอกว่าสมาชิกทำผิดก็ไม่มีกระบวนการให้ความยุติธรรม ไม่ให้อีกฝ่ายชี้แจงอย่างเปิดเผย  และการลงโทษก็มักจะรุนแรงมากซึ่งแม้อาจไม่ใช่โทษทางกายแต่ก็เป็นโทษที่มีผล ทางความคิดและอารมณ์มาก  เช่น การไม่ทำตามนโยบายของผู้นำหรือคริสตจักร ถือเป็นบาป ถูกสาปแช่ง ถูกขู่ให้เกิดความหวาดกลัวว่าพระเจ้าจะลงโทษหรือจะไม่อวยพร ถูกทำให้รู้สึกผิดว่าเขาได้ทำผิดต่อพระเจ้า ต่อผู้รับใช้ หรือต่อคริสตจักร ถูกตำหนิทั้งส่วนตัวและต่อหน้าผู้อื่น ถูกประนามว่าเป็นกบฏ ถูกโดดเดี่ยวจากมวลสมาชิก   ถูกห้ามพบปะกับเพื่อนสมาชิกอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นถูกห้ามไม่ให้คบหาด้วย  หรือถูกทำให้ต้องอับอาย  ถูกลดระดับชั้น  ถูกกล่าวถึงอย่างเสียหายต่อหน้าหรือลับหลัง ฯลฯ   ผลก็คือ ความเครียด ความกังวล หวาดกลัว โศกเศร้า  รู้สึกผิด  สูญเสียความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่รักผูกพันกัน  อับอาย  ฯลฯ

15. การออกจากคริสตจักรถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมากที่สุด  ผู้ที่ออกไป แม้ไม่ใช่เพราะหลงหาย  หรือออกไปยังคริสตจักรอื่น  หรือไปทำพันธกิจอื่น ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำเดิม  บุคคลนั้นก็มักต้องถูกตัดความสัมพันธ์จากทั้งคริสตจักร ถูกทำให้รู้สึกผิด หวาดกลัว  เจ็บปวด     การจะออกจากคริสตจักร แม้ว่าจะออกไปด้วยเหตุผลที่ชอบธรรม จะถูกถือว่าเป็นคนบาป เป็นกบฏ  เนรคุณ อกตัญญูต่อพ่อฝ่ายวิญญาณ ฯลฯ   หรือมักถูกใส่ความว่าทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่ไม่จริง (หรือจริงไม่หมด) เพื่อทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งกับสังคมภายในคริสตจักรนั้นและในวงสังคมคริสเตียนทั่วไปด้วย จนเพื่อนๆ ในคริสตจักรก็เลิกคบหรือไม่กล้าคบหรือถูกห้ามไม่ให้คบ จะไปเข้าคริสตจักรอื่นก็แทบไม่ได้ รับใช้กับคริสตจักรอื่นก็แทบไม่ได้ จะตั้งคริสตจักรใหม่ก็แทบไม่ได้อีก คริสตจักรประเภทนี้บางแห่งบอกว่า "เกิดที่ไหนต้องตายที่นั่น"  บ้างก็บอกว่าใครออกจากคริสตจักรเท่ากับ "หักพันธสัญญา"  บ้างก็บอกว่าถ้าใครออกไปจะ "หยุดการอธิษฐานเผื่อ" ซึ่งจะทำให้พระเจ้าไม่อวยพร ฯลฯ

เล่มนี้ชื่อ "อำนาจเจ้าเล่ห์แห่งการทำอันตรายทางจิตวิญญาณ :
การสังเกตและหนีออกจากการหลอกใช้ทางจิตวิญญาณ
และการใช้สิทธิอำนาจแบบผิดๆ ที่มีตามคริสตจักร
16. มักเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว วัย 18 ถึง 25 เนื่องจากคนวัยนี้พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ และกำลังแสวงหาคุณค่าบางอย่างที่ตนเองจะอุทิศตัวให้อย่างเต็มที่

17. การเปลี่ยนผ่านผู้นำสูงสุดก็มักจะเป็นในหมู่เครือญาติหรือคนใกล้ชิด   เช่น พ่อส่งต่อตำแหน่งให้ลูก หรือให้ภรรยา หรือญาติ หรือเขยสะใภ้  และผู้นำสูงสุดมักเป็นผู้กำหนดเอง  ไม่ได้ให้มวลสมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  จนกระทั่งเป็นเสมือนกิจการส่วนตัว


            รายงานทั้งหลายเหล่านี้แนะนำว่า หากเราอยู่ในคริสตจักรที่มีลักษณะแบบนี้ขอให้ระมัดระวัง และหากหาจังหวะออกมาได้ควรออกมาเสียดีกว่า เพราะการอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ความคิดและบุคคลิกภาพของเราจะซึมซับและถูกครอบงำลงลึกมากขึั้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว แล้วในที่สุดก็เกินจะแก้ไข จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต ซึ่งแม้ภายหลังออกมา อาการของปัญหาก็ยังมักจะคงอยู่

            หลายคนถึงขั้นต้องรับการบำบัดหรือเยียวยาจิตใจกันอีกพักใหญ่ ตัวผู้เขียนเองมีลูกศิษย์หลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เคยอยู่ในคริสตจักร ประเภทนี้ เห็นอาการที่เกิดกับพวกเขาแล้วก็ได้แต่เศร้าใจไปด้วย ในบางวิชาผู้เขียนลองให้บางคนเหล่านี้เขียนเป็นเรื่องราวออกมาในหน้ากระดาษ เอสี่ส่งมาเป็นรายงาน พออ่านเพื่อตรวจให้คะแนนก็กลายเป็นว่าตรวจไปร้องไห้ไป!

และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อยากให้ท่านผู้อ่านลองอ่านรายงานสั้นๆ ชิ้นหนึ่งของนักศึกษาคนหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งต้องขออนุญาตปิดชื่อจริงของทุกฝ่าย (และข้อมูลบางเรื่อง)   เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด หวังเพียงเป็นการให้ข้อคิดและประโยชน์ในเชิงวิชาการเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

You may post your comments here.
หากท่านมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือเสนอแนะเชิญออกความเห็นได้
(กรุณาใช้ข้อความสุภาพ และสร้างสรรค์)